เมี่ยงโบราณ
อาหารไทยโบราณ

เมี่ยงโบราณ หมากเมืองเหนือ อาหารว่าง ชาวล้านนาในอดีต

เมี่ยงโบราณ อาหารว่างคนเมือง วัฒนธรรมการกิน ของชาวเหนือ 

เมี่ยงโบราณ หากพูดถึงเมี่ยง หลาย ๆ คนอาจนึกถึง เมียงปลาทู เมี่ยงปลาเผา อะไรทำนองนี้ หรืออาจเคยทาน เมี่ยงคำ กันมาบ้างแล้ว แต่น้อยคนนัก ที่จะรู้จัก กับเมี่ยงโบราณ หรือเมี่ยงใบชา อาหารว่างของชาวล้านนา ในสมัยก่อน

หากใครที่เคย มีโอกาสได้ เดินทางขึ้นไป ที่จังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือของไทย คงจะได้พบ ชาวพื้นเมืองรุ่นเก่า ๆ ที่มักจะชอบ อมใบไม้ชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันว่า “เมี่ยง” จนผู้คนภาคอื่น ๆ ขึ้นไปพบเห็น และเรียกกันว่า หมากเมืองเหนือ

ตั้งแต่โบราณ ของว่างกินเล่น หลังมื้ออาหาร ของคนเมืองเหนือ คงไม่มีอะไร จะดีไปกว่าการ “อมเมี่ยง” หรือ “เหมี้ยง” เพื่อให้รสชาติ และกลิ่นอาหาร ที่กินเข้าไป ลดน้อยลง ทั้งยังลดความเผ็ด ความเค็ม ที่ติดอยู่ในปาก

และยังทำให้ การพูดคุยกัน หลังมื้ออาหาร ระหว่างในครอบครัว เพื่อนฝูง ให้ออกรสออกชาติ โดยการเคี้ยวเมี่ยงไป คุยกันไปด้วย เป็นการล้างปาก และย่อยอาหาร ไปในตัวอย่างดี

เมี่ยงโบราณ

เมี่ยงโบราณ มีกี่ประเภท ?

โดยทั่วไป เมี่ยง ที่เราคุ้นเคย จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทหลัก ๆ คือ เมี่ยงคำ และเมี่ยงใบชา

เมี่ยงคำ เป็นอาหารที่ คนในภาคกลาง นิยมรับประทาน เป็นอาหารว่าง ในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วง ที่ต้นชะพลู ออกใบและยอดอ่อน ได้มากที่สุด มีรสชาติดี แต่จริง ๆ แล้วเมี่ยงคำ สามารถรับประทาน เป็นอาหารว่าง ได้ตลอดทั้งปี แล้วแต่ว่า จะมุ่งรับประทาน เพื่อความอร่อย หรือจะรับประทาน เพื่อสุขภาพ

เมี่ยงคำเป็นอาหาร ช่วยบำรุงธาตุ ปรับธาตุดีที่หนึ่ง ในเครื่องเมียงคำ ที่ประกอบด้วย ใบชะพลู มะนาว บำรุงธาตุน้ำ พริก หอม บำรุงธาตุลม ขิง และเปลือกมะนาว บำรุงธาตุไฟ มะพร้าว ถั่วลิสง น้ำตาล กุ้งแห้ง บำรุงธาตุดิน เมี่ยงคำจึงเป็น ที่นิยมกินกัน อย่างแพร่หลาย

เมี่ยงใบชา เป็นที่นิยมกินกัน ในแถบภาคเหนือ สำหรับต้นเมี่ยงใบชา ก็คือพืชตระกูล ต้นชานั่นเอง ไม่ค่อยนิยม นำไปต้มดื่ม เหมือนใบชา แต่จะนำเอา ใบสดของต้นเมี่ยง ไปนึ่งและหมักไว้ ให้มีรสเปรี้ยว แล้วเอามาอมกับเกลือ

เมี่ยงหรือใบชา ของชาวล้านนา เป็นอาหารว่างของ คนเหนือในอดีต จนถึงปัจจุบัน ทุกบ้านจะมีไว้ เป็นของกินเล่น เอาไว้ต้อนรับแขก หรือญาติที่มาเยือน โดยมีห่อเมี่ยง คู่กับขันหมาก และโป้ยาขื่น (กระป๋องยาสูบ) แขกที่มาเยี่ยม จะแกะห่อเมี่ยง แล้วกินเมี่ยงที่ เจ้าของบ้านนำมาให้ ในระหว่างที่ พูดคุยสนทนา เรื่องราวต่าง ๆ กัน

เมี่ยงโบราณ

เมี่ยงโบราณสุโขทัย

เป็นเมี่ยงประยุกต์ ที่ผสมผสาน ระหว่างเมี่ยงใบชา กับเมี่ยงคำเข้าด้วยกัน โดยนำเมี่ยงใบชา มาห่อรวมกับ ถั่วลิสงคั่ว มะพร้าวคั่ว และน้ำตาลปี๊บ จัดขนาดพอดีคำ แล้วห่อด้วย กรวยใบตองที่ ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ เป็นเอกลักษณ์ ชวนรับประทาน

ในปัจจุบัน เมี่ยงโบราณสุโขทัย กลายเป็นของฝาก ที่มีชื่อเสียง เป็นโอท็อปของจังหวัด สุโขทัยไปแล้ว เรียกว่าหากมา แล้วไม่ได้กิน ก็เหมือนมาไม่ถึง กันเลยทีเดียว

แต่ความอร่อยของไทย ไม่ได้ถูกจำกัด อยู่ในพื้นที่ใดพื้นหนึ่ง หรือแบบใดแบบหนึ่ง และสิ่งเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นมนต์เสน่ห์ ที่ชวนหลงใหล ผ่านการนำ ความอร่อยนั้น มาปรับปรุงแต่ง ให้เข้ากับจริต ของแต่ละชุมชน เมี่ยงเองก็เช่นกัน มีมากมายหลายสำรับ ตามแบบฉบับ ของแต่ละชุมชน ชวนให้ทุกคน ได้ไปลิ้มลอง

เมี่ยงโบราณ

รู้จักกับ เมี่ยง ต้นกำเนิดของชา

เมี่ยง ความหมายตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง “ของกินเล่นที่ใช้ ใบไม้บางชนิด เช่น ใบชาหมัก ใบชะพลู ใบทองหลาง ห่อเครื่องที่ มีถั่วลิสง มะพร้าว กุ้งแห้ง หัวหอม ขิง เป็นต้น มีหลายชนิด เรียกชื่อต่าง ๆ กัน เช่น เมี่ยงคำ เมี่ยงลาว เมี่ยงส้ม”

ต้นเมี่ยง” หรืออีกความหมาย นั่นก็คือ “ต้นชา” เป็นภาษาถิ่น ของชาวเหนือ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ต้นเมี่ยงก็คือ พืชในตระกูลเดียวกัน กับต้นชานั่นเอง เป็นต้นชาพันธุ์อัสสัม ถือเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่สำคัญของ ชาวไทยภูเขา มายาวนานกว่าร้อยปี

ในสมัยก่อน ต้นเมี่ยงปลูกกันมาก ที่จังหวัดแพร่ บนภูเขาสูงแถว ๆ ตำบลป่าแดง ตำบลช่อแฮ และตำบลสวนเขื่อน ส่วนทางพะเยา เชียงราย และเชียงใหม่ ก็มีพบเห็น การปลูกบ้างเหมือนกัน

ในเมี่ยงยังมี สารอาหารหลายชนิด เป็นองค์ประกอบ เช่น วิตามินซี โปรตีน และน้ำตาล มีอิทธิพลต่อ ระบบเมตาโบลิซึ่ม ของเซลล์ร่างกาย ช่วยแก้กระหาย ดื่มแล้วชุ่มคอ ชื่นใจ ช่วยย่อยอาหาร แก้ร้อนใน และลดไขมัน ช่วยชะล้างสารพิษ ออกจากร่างกาย

ถึงการกินเมี่ยง จะมีความนิยม ลดน้อยถอยลงไป แต่วัฒนธรรม การกินเมี่ยง ของชาวล้านนา ยังคงมีปรากฏ อยู่งานบุญต่าง ๆ ในหมู่บ้านทาง ภาคเหนือของไทย ตราบจนทุกวันนี้ แม้ว่าเยาวชน คนรุ่นใหม่ ๆ จะไม่รู้จักคุ้นเคย กับคำว่า “เมี่ยง” และการกินเมี่ยง แต่กลับไปรู้จัก ในรูปแบบของ “ชา” และนิยมกิน “ชา” มากกว่าเมี่ยงก็ตาม